โครงการเสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา (หมู่บ้านรักษาศีล ๕) เกิดขึ้นจากสถานการณ์บ้านเมืองในห้วงเวลาที่ผ่านมา ' ประเทศไทยประสบปัญหามากมาย ประกอบด้วยการกระทำผิดกฎหมาย ปัญหาอาชญากรรม การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การระบาดของสิ่งเสพติดและอบายมุข การแตกแยกทางความคิด การเห็นประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม และการจาบจ้วงดูหมิ่นสถาบันหลักของชาติ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนเกิดจากการขาดสติ จิตสำนึก ศีลธรรมและคุณธรรมจริยธรรมอันจะส่งผลให้สังคมเกิดความขัดแย้งคณะสงฆ์ โดยเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มีดำริที่จะเสริมสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ของคนในชาติ ให้เกิดความสงบ สันติสุข มีความสามัคคีกลมเกลียวกัน โดยให้พุทธศาสนิกชนได้น้อมนำหลักศีล ๕ มาประพฤติปฏิบัติในการดำเนินชีวิตประจำวัน กอปรกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้แนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการให้ทุกภาคส่วนในประเทศร่วมมือกันดำเนินการสร้างความปรองดองสมานฉันท์และทำให้ประชาชนมีความรักความสามัคคีกันขึ้นในทุกส่วนของประเทศ ตามดำริที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ได้ประทานโอวาทไว้ เมื่อวันที่ ๑๗พฤศจิกายน๒๕๕๖ความว่า “อันว่าศีล ๕ เป็นการสำคัญมนุษย์ เมื่อทุกคนมีศีล ๕ ด้วยกัน สังคมนั้นๆ คือ ประชาชนย่อมจะอยู่เย็นเป็นสุข เมื่อเป็นไปได้ ขอให้ชื่อหมู่บ้านนั้นว่า หมู่บ้านรักษาศีล ๕”
โครงการดังกล่าวเป็นนโยบายเร่งด่วนให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้ร่วมกับคณะสงฆ์ และภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ขยายผล การดำเนินลงไปสู่ระดับครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด เพื่อมุ่งหวังให้ประชาชนในชาติ มีความรักและเทิดทูนในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเสริมสร้างความสามัคคีปรองดองของประชาชนในชาติโดยใช้กลไกทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะหลักศีล ๕ นั้นถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่เบียดเบียนทั้งกาย ทางวาจา หรือจิตใจ ทำให้สังคมมีความสุข ประกอบกิจกรรมการงานได้อย่างเสรี ไม่ต้องมีความกังวลใจใดๆ เพราะมีกฎเกณฑ์กติกาที่กำหนดให้ทุกคนนั้นเคารพในสิทธิความเป็นมนุษย์ด้วยกัน ในงานเขียนของท่านพุทธทาสภิกขุเรื่อง หน้าที่ของมนุษย์ กล่าวไว้ว่า มนุษย์ที่จะเต็มไปด้วยความเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์นั้น ก็มาจากการรักษาศีล ๕ นั่นเอง คือไม่มีปัญหา มีความเยือกเย็น ทั้งในแง่ของวัตถุ ร่างกายหรือจิตใจ มีการสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน หากว่าเห็นแก่ประโยชน์ของตน ไม่คำนึงถึงประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันแล้ว ไม่อาจเรียกว่าเป็นมนุษย์ได้อย่างเต็มที่
การรักษาศีล ๕ จึงเป็นสิ่งจำเป็นของมนุษย์ในการดำรงอยู่สังคมร่วมกับผู้อื่น หากพิจารณาถึงโดยธรรมชาติของมนุษย์ มนุษย์นั้นถือว่าเป็นสัตว์สังคม การที่ต้องมาอยู่ร่วมกันเป็นสังคมทำให้โครงสร้างความสัมพันธ์มีความซับซ้อนมากขึ้น และนำมาสู่ปัญหาสังคมตามมา เมื่อเกิดปัญหาขึ้นบ่อยครั้ง จึงจำเป็นที่จะต้องมีบทบัญญัติหรือข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันขึ้นมา เพื่อให้ทุกคนยึดถือปฏิบัติตามร่วมกัน หากทุกคนปฏิบัติตาม สังคมก็จะมีความเป็นระเบียบ อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ซึ่งหลักศีล ๕ เป็นเสมือนข้อตกลงหรือบทบัญญัติขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่จำเป็นในการอยู่ร่วมกันโดยปกติสุขในสังคม หากมีการละเมิดศีล ๕ นั้น อาจจะนำไปสู่การเกิดเป็นอาชญากรรมได้ ฉะนั้นการประพฤติตนไม่ให้ละเมิดศีล ๕ จะทำให้เกิดความสงบสุขเรียบร้อยในตัวบุคคล ซึ่งเมื่อทุกคนมีศีล ๕ ที่เสมอกัน คือ มีความเสมอภาคในเรื่องศีล ก็จะเป็นการปรับสถานะให้บุคคลในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข
โครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ เป็นโครงการที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ขึ้นในสังคมไทย ด้วยการอาศัยหลักธรรมศีล ๕ ข้อ ซึ่งเป็นธรรมพื้นฐานของการดำรงชีวิต เป็นข้อปฏิบัติในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข มีความสามัคคีเกิดขึ้นในชุมชน การส่งเสริมให้ผู้คนรักษาศีล ๕ ข้อ นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างความสมานฉันท์แล้ว ยังจะช่วยแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมายาวนานที่เกิดจากความขัดแย้งของคนในชาติ อันเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาประเทศไทยให้เจริญก้าวไปข้างหน้า และยังช่วยสร้างบรรยากาศความสงบสุขเรียบร้อยเพื่อนำพาประเทศชาติกลับคืนสู่สภาวะปกติสุขอย่างยั่งยืน
ผลการดำเนินการ จากการดำเนินการโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ในรอบ ๙ ปีที่ผ่านมา (๒๕๕๗-๒๕๖๔) พบว่า มีประชาชนสมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน ๔๑,๔๓๕,๐๒๔ คน คิดเป็น ร้อยละ ๖๓.๐๔ ของประชากรในสังคมไทย ซึ่งเป็นการดำเนินการในระยะที่ ๑ ให้ผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมกิจกรรม ส่วนกิจกรรมในเชิงคุณภาพได้ดำเนินการในลักษณะต่างๆ เช่น การคิดดี ทำดี พูดดี โดยมีกิจกรรมสำคัญ ๗ ประการ คือ
- ๑) กิจกรรมรักษาศีล ๕
- ๒) กิจกรรมสวดมนต์นั่งสมาธิ
- ๓) กิจกรรมการรักษาความสะอาดบ้าน สภาพแวดล้อมให้น่าอยู่
- ๔) กิจกรรมคบคนดีรอบข้าง ชวนกันทำความดี
- ๕) กิจกรรมพูดไพเราะ สื่อสารเพื่อประโยชน์และความสุข
- ๖) กิจกรรมบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์
- ๗) กิจกรรมชั่วโมงสุขจริงหนอ เพื่อสร้างครอบครัวให้อบอุ่น
ประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินการ
- ๑) ประชาชนมีจิตสำนึกและได้แสดงออกถึงความรับผิดชอบ มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมถิ่นกำเนิดของตนเอง ด้วยการสร้างความรักความสามัคคี ความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- ๒) ประชาชนไทยทุกหมู่บ้าน ชุมชน ตำบล และสังคมมีความรักความเข้าใจ เคารพในความคิดเห็นของกันและกัน มีความเอื้อเฟื้อ เป็นสังคมเครือญาติและมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
- ๓) ประชาชนเห็นคุณค่าและประโยชน์ในการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มาดำเนินชีวิตอย่างมี ความสุข
- ๔) ประชาชนมีความตระหนัก รักปกป้อง เชิดชูสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งจะส่งผลให้ ประเทศชาติมีความมั่นคงยั่งยืน
ต่อมาคณะสงฆ์โดย มหาเถรสมาคม ได้มีการดำเนินการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาและได้กำหนดจัดทำแผนปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาตามมิติมหาเถรสมาคมในการประชุมครั้งที่ ๕/๒๕๕๙ (มติที่ ๑๐๖/๒๕๕๙) และในการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๐ ที่มีมติเห็นชอบแผนแม่บทการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามแผนดังกล่าว จึงได้ดำเนินการตามแนวทางการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ๖ (+ ๑) ด้าน ได้แก่ การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาด้านการปกครอง ศาสนศึกษา การเผยแผ่ การสาธารณูปการ การศึกษาสงเคราะห์ การสาธารณสงเคราะห์ และการพัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก โดยมีโครงการที่ดำเนินการจำนวน ๑๔ โครงการ ดังนี้
- ๑) โครงการขยายโอกาสทางการศึกษาสู่สังคม
- ๒) โครงการยกระดับหมู่บ้านรักษาศีล ๕
- ๓) โครงการวิปัสสนากรรมฐานเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์
- ๔) โครงการยกระดับโรงเรียนพระปริยัติธรรม
- ๕) โครงการส่งเสริมความร่วมมือภาคีเครือข่าย
- ๖) การพัฒนาระบบการบริหารตามหลักธรรมาภิบาลเชิงพุทธ
- ๗) โครงการ Smart Card Smart Buddhism สู่พระพุทธศาสนา ๔.๐
- ๘) โครงการส่งเสริมนวัตกรรมเชิงพุทธ
- ๙) โครงการยกระดับขีดความสามารถศาสนบุคคล
- ๑๐) โครงการศูนย์รวมองค์ความรู้และแหล่งเรียนรู้พระพุทธศาสนา
- ๑๑) โครงการบริหารศาสนสมบัติระบบการเงิน-การบัญชี
- ๑๒) โครงการวัดสร้างสุขด้วยกิจกรรม ๕ ส
- ๑๓) โครงการสาธารณสงเคราะห์เพื่อพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน
- ๑๔) โครงการพัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนา
ดังนั้น โครงการเสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล ๕” จึงเป็นโครงการที่สำคัญของคณะสงฆ์และภาครัฐที่บรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี เป็นไปตามพันธกิจการบริหารกิจการคณะสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๕๓๕ และ ๒๕๖๐ โดยมีการดำเนินการที่สอดคล้องกับการปฏิรูปกิจการคณะสงฆ์และการพัฒนาโครงการเพื่อต่อยอดกับการเสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาในสังคมไทย